ไตรจีวร

   ไตรจีวร แปลว่า ผ้า ๓ ผืน นับเข้าในบริขาร ๘ ของภิกษุ (ดูเรื่อง บริขาร)
ไตรจีวร ผ้า ๓ ผืน ได้แก่
๑.จีวร คือ ผ้าห่ม เรียกว่า "อุตราสงค์"
๒.สบง คือ ผ้านุ่ง เรียกว่า "อันตรวาสก"
๓.สังฆาฏิ คือ ผ้าซ้อน (ปัจจุบันใช้พาดบ่า)เรียกว่า "สังฆาฏิ" (ทับศัพท์)
ผ้า ๓ ผืนนี้เรียกว่า "ผ้าไตร" บ้าง เรียกสั้นๆว่า "ไตร" บ้าง เช่น "ยกผ้าไตรมาตั้งหน้าพระหน่อย จะได้ถวายกัน" "ไตรครองนี้ให้แม่ของนาคมาอุ้มเวียนโบสถ์"

   ไตรครอง คือ ไตรจีวรหรือผ้าไตรของภิกษุที่พระอุปัชฌาย์มอบให้ในวันบวช(ดูเรื่อง ไตรจีวร)ถือว่าเป็นบริขารประจำตัวของภิกษุทุกรูป
ไตรครองที่เรียกดังนี้เพราะมีธรรมเนียมตามพระวินัยว่าภิกษุทุกรูปจะมีผ้าประจำตัวอยู่ ๓ ผืนที่เรียกว่า"ไตรจีวร" และมีบทบัญญัติบังคับว่าภิกษุจะต้องรักษาผ้า ๓ ผืนนี้ ไม่ให้ห่างกายตลอดเวลาโดยเฉพาะในช่วงกลางคืน ยกเว้นเมื่อได้รับการผ่อนผันเป็นพิเศษ เพราะได้อยู่จำพรรษาหรือได้รับกฐินแล้ว ดังนั้นในเวลาที่ยังมิได้รับการผ่อนผันจึงมีธรรมเนียมปฏิบัติให้ภิกษุต้องครองผ้าสามผืนนี้ในตอนเช้ามืดจนกว่าจะได้อรุณใหม่เพื่อมิให้ผ้าห่างกายของตนตามพระวินัย ผ้าไตรที่ภิกษุใช้ครองที่เป็นผ้าประจำนี้ เรียกว่า "ไตรครอง"

   ไตรแบ่ง เป็นภาษาพูด หมายถึง ผ้าไตรที่ถูกจัดโดยไม่ครบ ๓ ผืนเหมือนปกติ โดยแบ่งจัดเพียง ๒ ผืน (ถ้าจัดครบทั้ง ๓ ผืน เรียกว่า "ไตรเต็ม")
   ไตรแบ่ง เป็นการจัดผ้าที่จะถวายแก่ภิกษุโดยไม่ครบสำรับหรือครบ ๓ ผืน ปกติจะจัดแค่ ๒ ผืน คือ สบงหรือผ้านุ่ง(อันตรวาสก) กับจีวรหรือผ้าห่ม(อุตราสงค์)และมีผ้าประกอบคือ อังสะ ผ้ากราบ ประคดเอว วางซ้อนกันเป็นชุดแล้วใช้ผ้ารัดอกพันโดยรอบ ไตรแบ่งจะไม่มีผ้าสังฆาฏิ เพราะปกติพระสงฆ์จะไม่นิยมเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิบ่อยเหมือนผ้านุ่งและผ้าห่ม ด้วยใช้สอยน้อยกว่า เป็นเหตุให้นิยมถวายเฉพาะไตรแบ่งโดยตัดสังฆาฏิออก ไตรแบ่งนิยมใช้เป็นผ้าอาศัย (ดูเรื่อง ไตรอาศัย)และใช้ในกรณีบวชเป็นสามเณร เพราะสามเณรไม่ใช้ผ้าสังฆาฏิ

   ไตรอาศัย เป็นภาษาปาก หมายถึง ไตรจีวรที่นอกเหนือไปจากไตรครองหรือผ้าไตรที่ภิกษุอธิษฐานเป็นผ้าครอง
มีพระวินัยกำหนดไว้ว่า ภิกษุสามารถใช้ผ้าได้ ๓ ผืนที่เรียกว่า"ไตรจีวร"(ดูเรื่องนี้)ซึ่งในวันอุปสมบทพระอุปัชฌาย์จะเป็นผู้มอบให้นำไปนุ่งห่มเมื่อสำเร็จพิธีแล้วภิกษุใหม่จะอธิษฐานผ้าไตรจีวรที่ได้รับมอบมานั้นเป็นผ้าครองประจำตัวต่อไป เรียกผ้าไตรจีวรชุดนี้ว่า "ไตรครอง" แต่ในวันอุปสมบทหรือหลังจากอุปสมบทแล้วจะมีผู้ถวายผ้าไตรแก่ภิกษุอีก คล้ายกับถวายเป็นผ้าที่อาศัยไตรครอง ท่านรับแล้วก็เก็บไว้เป็นอดิเรกจีวร(ดูเรื่องนี้)มิได้อธิษฐานเป็นไตรครองอีก จึงเรียกผ้าไตรแบบนี้ว่า "ไตรอาศัย" เรียกว่า "ผ้าอาศัย" ก็มี
ไตรอาศัย ใช้เรียกได้ทั้งไตรเต็มและไตรแบ่ง (ดูเรื่อง ผ้าไตร)

   ผ้าไตร หมายถึง ผ้า ๓ ผืน เป็นคำเรียกย่อมาจากคำว่า ผ้าไตรจีวร ได้แก่ ผ้าจีวร(ผ้าห่ม) ผ้าสบง(ผ้านุ่ง) สังฆาฏิ(ผ้าซ้อน,ผ้าพาดบ่า) (ดูเรื่อง ไตรจีวร)
ผ้าไตร นิยมเรียกย่อว่า ไตร เฉยๆก็มี เรียกละเอียดไปอีก ไตรเต็ม ไตรแบ่ง ก็มี
-ไตรเต็ม คือผ้าไตรที่จัดรวมกันไว้เป็นชุดครบทั้ง ๓ ผืน เหมือนผ้าไตรที่นิยมถวายกันโดยทั่วไป
-ไตรแบ่ง คือผ้าไตรที่จัดไว้ไม่ครบ ๓ ผืนมีเฉพาะผ้าจีวรกับผ้าสบงรวม ๒ ผืน ไม่มีผ้าสังฆาฏิ ไตรแบ่งนี้ใช้ในกรณีบรรพชาเป็นสามเณร เพราะสามเณรไม่ใช้ผ้าสังฆาฏิและนิยมจัดถวายพระตามความจำเป็น ด้วยผ้าสังฆาฏิมีอายุการใช้ยาวกว่าและใช้น้อยกว่าผ้าผืนอื่น

อ้างอิง:
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๕๔๘

ไตรเต็ม ประกอบด้วย อันตรวาสก อุตราสงค์ สังฆาฏิ (บางโอกาสก็อาจจะเพิ่ม กายพันธน์ ผ้าอังสะ ผ้ารัดอก และผ้ากราบ)

  • อันตรวาสก คือ ผ้าสบง(สำหรับนุ่ง) 
  • อุตราสงค์ คือ ผ้าจีวร(สำหรับห่ม) 
  • สังฆาฏิ คือ ผ้าสำหรับห่มซ้อนนอกเวลาอากาศหนาว ปกติพระสงฆ์ท่านจะพับไว้แล้วพาดซ้อนบ่าเวลาห่มดอง(เป็นการห่มจีวรอีกแบบหนึ่งของพระ) 
  • กายพันธน์ คือ ผ้าประคดรัดเอว(รัดประคด)
  • ผ้าอังสะ คือ ผ้าที่มีลักษณะคล้ายเสื้อใช้คล้องไหล่เฉียงบ่าปิดไหล่ซ้าย พระจะใช้เมื่อเวลาอยู่ที่วัดตามลำพัง(ไม่ต้องห่มจีวรคลุมร่างทั้งผืน) 
  • ผ้ารัดอก ใช้สำหรับรัดจีวรเมื่อเวลาห่มดอง นอกจากนี้ยังมี
  • ผ้ากราบ ใช้สำหรับรองเมื่อเวลากราบและใช้ปูรับของเมื่อเวลาผู้หญิงประเคนของถวาย

 

Visitors: 229,020