อดิเรก
อดิเรก แปลว่า เกินกว่าหนึ่ง คือสิ่งที่เพิ่มขึ้นจนเกินกว่าหนึ่ง สิ่งที่มีเกินหนึ่ง มีเกินกำหนด มีเกินกว่าปกติ มีเหลือเฟือ ใช้ว่า อติเรก ก็ได้
อดิเรก ใช้นำหน้าคำอื่นๆเช่น
-อดิเรกจีวร หมายถึงผ้าที่เกินกำหนดที่ทรงอนุญาตไว้ คือผ้าส่วนเกินจากไตรจีวร(ผ้าสามผืน)
-อดิเรกบาตร หมายถึงบาตรที่เกินกำหนดที่ทรงอนุญาตไว้ คือบาตรใบที่สองที่สาม เป็นต้น
-อดิเรกลาภ หมายถึงลาภส่วนเกิน ลาภที่เกิดขึ้นมากเกินปกติ ลาภที่มีเหลือเฟือ
อ้างอิง:
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๕๔๘
อติเรกจีวร คือ จีวรที่มีเกินกว่าผ้าที่อธิษฐานเป็นไตรจีวร ตามพระวินัย ภิกษุสามารถเก็บไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน สามารถทำเป็น วิกัปอติเรกจีวร คือ ทำให้เป็นสองเจ้าของ เพื่อจะได้ไม่ต้องอาบัติ เพราะเก็บไว้เกินกำหนด
ความเป็นมาของเรื่องอติเรกจีวรนี้ เนื่องจากมีผู้ถวายจีวรแก่พระอานนท์ แล้วท่านประสงค์จะเก็บไว้ถวายพระสารีบุตรซึ่งขณะนั้นอยู่ต่างเมือง ประมาณ ๑๐วัน จึงจะเดินทางมาถึง พระอานนท์ได้เข้าไปทูลถามพระพุทธองค์ว่าจะปฎิบัติอย่างไรกับอติเรกจีวรดี จึงทรงมีพุทธบัญญัติ ให้เก็บรักษาอติเรกจีวร ไว้ได้ไม่เกิน ๑๐วัน
เจ้าหน้าที่สงฆ์ผู้มีหน้าที่รักษาคลังแห่งจีวร
ตามวินัยสงฆ์แล้ว ภิกษุมีวินัยบังคับให้ใช้สอยจีวรได้เพียงชุดเดียว เรียกว่า ไตรจีวร คือ ผ้า ๓ ผืน คือ จีวร สบง และสังฆาฏิ เท่านั้น ที่อนุญาตให้อธิฐานใช้นุ่งห่มได้ตลอด ถ้าได้จีวรผืนใหม่มานอกจากผ้า ๓ ผืนนั้น ผ้าเหล่านั้นจัดเป็น อติเรกจีวร จะเก็บผ้านั้นไว้ได้นานเพียง ๑๐ วันเท่านั้น ถ้าเกินเวลานั้นไปต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์ ในอติเรกจีวรทั้งมวลนั้นเมื่อภิกษุที่ได้รับการถวายมาได้สละแล้วและมิประสงค์จะใช้ผ้าผืนนั้นก็สละผ้าเหล่านั้นเป็นอติเรกจีวร เจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ผู้ได้รับมอบหมายในการดูแลคลังต้องเก็บผ้าเหล่านั้นไว้ในคลังแห่งจีวร ในแต่ละอารามหรือในเขตพัทธสีมาเมื่อได้อติเรกจีวรมานั้น พึงแต่งตั้งภิกษุหรือมอบหมายให้ดูแลในส่วนของจีวรหรือเรียกว่า เจ้าอธิการแห่งจีวรซึ่งมีหน้าที่จำแนกไว้ ๓ ประการ คือ
๑.มีหน้าที่รับจีวร เรียกว่า จีวรปฏิคคาหกะ
๒.มีหน้าที่เก็บจีวร เรียกว่า จีวรนิทหกะ
๓.มีหน้าที่แจกจีวร เรียกว่า จีวรภาชกะ
จีวรปฏิคคาหกะ คือ ภิกษุผู้มีหน้าที่รับจีวร นอกจากต้องเว้นจากอคติ ๔ แล้ว
ต้องเป็นผู้รู้จักประเภทแห่งจีวรที่ควรรับและมิควรรับ ดังนี้
๐ จีวรที่เขาถวายแก่สงฆ์ที่ตนสังกัดอยู่ ควรรับ
๐ จีวรที่เขาถวายแก่สงฆ์ที่ตนไม่ได้สังกัด ไม่ควรรับ
๐ จีวรที่เขาถวายเป็นปาฏิปุคคลิก หรือเจาะจง ไม่ควรรับ
๐ จีวรประเภทใด มีจำนวนเท่าไร รับไว้หรือมิได้รับไว้ ควรจำไว้ด้วย
การถวายจีวรแก่สงฆ์นั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ว่าถวายเช่นไร โดยมีคำถวายว่า ข้าพเจ้าถวายในสีมาหรือแก่สีมา ข้าพเจ้าถวายตามกติกาของสงฆ์ ข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ ข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว ส่วนจีวรที่ถวายเป็นปาฏิปุคคลิก คือ ถวายเฉพาะแก่ภิกษุโดยเจาะจงเฉพาะรูป ๆ ถวายแก่ภิกษุผู้ได้รับภัตตาหารของเขา ถวายแก่ภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะของเขา ถวายแก่ภิกษุผู้ได้รับอุปัฏฐากอย่างอื่นของเขา หรือถวายแก่ภิกษุเฉพาะรูป
จีวรนิทหกะ คือ ภิกษุผู้มีหน้าที่เก็บจึวร พึงเว้นจากอคติ ๔ ประการ แล้ว
พึงรู้จักจีวรที่ควรเก็บและมิควรเก็บ ดังนี้
๑.ผ้าอัจเจกจีวรที่เขาถวาย ควรเก็บไว้จนกว่าจะออกพรรษาแล้วจึงแจกแก่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษา
๒.จีวรที่เขาถวายไม่พอแจกกัน ควรเก็บไว้จนกว่าจะได้มาพอแจก
๓.จีวรที่เขาถวายพอแจกทั่วกัน ซึ่งไม่ใช่ผ้าอัจเจกจีวร ไม่ควรเก็บ
๔.จีวรมีจำนวนเท่าไร เก็บไว้ หรือไม่ได้เก็บไว้ ควรจำไว้ให้แม่นยำ
ผ้าอัจเจกจีวร คือผ้าที่ทายกมีเหตุรีบร้อนขอถวายไว้ก่อนถึงเขตจีวรกาล เช่น มีเหตุต้องย้ายสถานที่ ต้องไปศึกสงคราม หรือเจ็บไข้ได้ป่วยไม่ไว้ใจในชีวิตแห่งตนว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อหรืออาจต้องตายไปก่อนกำหนดที่จะถึงเขตจีวรกาล หรือมีศรัทธาเลื่อมใสเกิดขึ้นโดยทันทีกระทันหันประสงค์จะถวายจีวร พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับจีวรได้ก่อนวันปวารณา ๑๐ วันเป็นอย่างมาก คือ ตั้งแต่วันขึ้น ๖ ค่ำ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ก่อนเขตจีวรกาล (การกรานกฐินหลังออกพรรษา)
จีวรภาชกะ คือ ภิกษุผู้มีหน้าที่แจกจีวรพึงเว้นจากอคติ ๔ ประการ
และพึงรู้จักจีวรที่ควรแจกและมิควรแจก ดังนี้
๑.จีวรที่เขาถวายไม่นิยมเป็นพิเศษ พอแจกทั่วกัน ควรแจก
๒.จีวรที่เขาถวายเป็นผ้ากฐิน หรือเป็นมูลแห่งเสนาสนะปัจจัย ไม่ควรแจก
๓.จีวรมีจำนวนเท่าไร แจกไปแล้วหรือยังไม่ได้แจก ต้องจดจำไว้
อันภิกษุผู้มีหน้าที่แจกจีวร พีงกำหนดเขต กาล วัตถุ บุคคล และนิยมต่าง ๆ ดังนี้
พึงกำหนดเขต
เขตนั้น โดยปกติกำหนดด้วยอาวาสทั้งหมด ทายกถวายสงฆ์ในอาวาสใด พึงแจกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่พร้อมหน้ากันในอาวาสนั้น ถ้าสงฆ์หลายอาวาส ทำกติกากันว่า ลาภเกิดขึ้นในอาวาสหนึ่ง สงฆ์ในอาวาสที่เหลือได้ส่วนแจกด้วย เช่นนี้ พึงแจกถึงภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในเขตกติกานั้นด้วย
พึงกำหนดกาล
กาลนั้น ต้องรู้ว่าเป็นจีวรกาลตามปกติ หรือที่ขยายเขตออกไปตลอดฤดูหนาวด้วย อานิสงส์กฐิน หรือพ้นไปแล้ว
ถ้าเป็นจีวรกาล พึงแจกเฉพาะแก่ภิกษุผู้ได้จำพรรษาแล้ว หรือแม้ได้กรานกฐินแล้วด้วย ถ้าต้องการให้อาคันตุกะได้รับแจกด้วย อปโลกน์ ขออนุมัติต่อสงฆ์ผู้จำพรรษาแล้วนั้น ถ้าพ้นจากจีวรกาลแล้วพึงแจกแม้แก่อาคันตุกะ ด้วย
พึงกำหนดวัตถุ
วัตถุนั้น ได้แก่จีวรนั่นเอง โดยมากเป็นผ้าอาบน้ำฝนและผ้าจำนำพรรษา ต้องรู้ว่าเป็นผ้าเหมือนกันหรือต่างกัน ดีเลวอย่างไร ราคาถูกหรือแพงอย่างไร เป็นจีวรชนดใดในไตรจีวร อย่างไหนมีจำนวนเท่าไร ถ้าผ้ามีจำนวนพอแจกเป็นผืนได้ พึงแจกเป็นผืน การแจกนั้นต้องแจกของดีมีราคา โดยแจกตั้งแต่พระสังฆเถระลงมาตามลำดับ
พึงกำหนดบุคคล
บุคคล ในที่นี้หมายถึงสหธรรมิกผู้รับแจก ถ้าเป็นภิกษุได้เต็มส่วน สามเณรได้กึ่งส่วน ถ้าของมีจำนวนพอแจกรูปละส่วน ให้แจกเสมอกัน ควรอยู่
พึงกำหนดนิยมต่าง
นิยมต่างนั้น ต้องรู้ว่าผ้าที่ทายกถวายเป็นผ้าอะไร ถ้าเป็นผ้ากฐิน ควรให้สงฆ์มอบแก่ภิกษุรูปหนึ่งเพื่อกรานกฐิน ไม่ควรเอามารวมแจกกับผ้าอื่น ผ้าบริวารก็เหมือนกัน ผ้าไตรจีวรของภิกษุหรือสามเณรผู้มรณภาพแล้ว ควรให้สงฆ์ให้แก่ภิกษุสามเณรผู้พยาบาลไข้