ไตรจีวร สังฆาฏิชั้นเดียว

                       [๑๔๘] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ใช้จีวรที่ไม่ได้ตัด ใช้จีวรที่ย้อมน้ำฝาดมีสีเหมือนงาช้าง ประชาชนจึงพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้จีวรที่มิได้ตัด รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ.

พระพุทธบัญชาให้แต่งจีวร
             [๑๔๙] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ตามพระพุทธาภิรมย์แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางทักขิณาคิรีชนบท พระองค์ทอดพระเนตรเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันดังทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนากับคันนาผ่านตัดกันไป ครั้นแล้ว รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า อานนท์เธอเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดิน
ขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยมพูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่งคันนากับคันนาผ่านตัดกันไปหรือไม่?
             อา. เห็นตามพระพุทธดำรัส พระพุทธเจ้าข้า.
             ภ. เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลายให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่?
             อา. สามารถ พระพุทธเจ้าข้า.
             ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคิรีชนบทตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จกลับมาพระนครราชคฤห์อีก ครั้งนั้นท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับภิกษุหลายรูป ครั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงทอดพระเนตรจีวรที่ข้าพระพุทธเจ้าแต่งแล้ว พระพุทธเจ้าข้า.
ตรัสสรรเสริญท่านพระอานนท์
             ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด อานนท์ได้ซาบซึ้งถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำที่เรากล่าวย่อได้โดยกว้างขวาง อานนท์ทำผ้ากุสิก็ได้ ทำผ้าชื่ออัฑฒกุสิก็ได้ ทำผ้าชื่อมณฑลก็ได้ ทำผ้าชื่ออัฑฒมณฑลก็ได้ ทำผ้าชื่อวิวัฏฏะก็ได้ ทำผ้าชื่ออนุวิวัฏฏะก็ได้ ทำผ้าชื่อคีเวยยกะก็ได้ ทำผ้าชื่อชังเฆยยกะก็ได้ และทำผ้าชื่อพาหันตะก็ได้ จีวรจักเป็นผ้าที่ตัดแล้ว เศร้าหมองด้วยศัสตรา สมควรแก่สมณะ และพวกศัตรูไม่ต้องการ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าสังฆาฏิตัด ผ้าอุตราสงค์ตัด ผ้าอันตรวาสกตัด.

 อ้างอิง: https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=5&A=3899&Z=4004&pagebreak=0

         ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้ดำริว่า กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ ที่เป็นคนขี้หนาว กลัวต่อความหนาว ก็อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยผ้าสามผืน ไฉนหนอ เราจะพึงกั้นเขต ตั้งกฏ ในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย เราจะพึงอนุญาตไตรจีวร

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไตรจีวร คือ ผ้าสังฆาฏิสองชั้น,จีวร(ผ้าอุตราสงค์ชั้นเดียว)และสบง(ผ้าอันตรวาสชั้นเดียว) ทั้งนี้เพื่อให้พระสงฆ์ ใช้ป้องกันความหนาวเย็นและรับสั่งว่า ภิกษุไม่พึงมีจีวรมากกว่านี้ (รูปใดมีมากกว่านี้ เป็นอาบัติ)

         อติเรกจีวร คือ จีวรที่มีเกินกว่าผ้าที่อธิษฐานเป็นไตรจีวร  ตามพระวินัย  ภิกษุสามารถเก็บไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน สามารถทำเป็น วิกัปอติเรกจีวร คือ ทำให้เป็นสองเจ้าของ เพื่อจะได้ไม่ต้องอาบัติ เพราะเก็บไว้เกินกำหนด(ดูเรื่อง อดิเรก)

 

Visitors: 239,426