ที่มาของการตัดเย็บจีวร

  จีวร  เป็นปัจจัยหรือบริขาร ของพระสงฆ์อย่างหนึ่งในจำนวน๔อย่าง นอกจากคำว่า "จีวร" ยังใช้หมายถึงเฉพาะผ้าห่มของพระสงฆ์อย่างเดียวก็ได้ จีวร ที่ใช้ในความหมายว่าผ้าห่มอย่างเดียว มีชื่อเรียกเฉพาะว่า อุตราสงค์

  จีวรของพระสงฆ์ ประกอบด้วยผ้า ที่ตัดเป็นสี่เหลี่ยมผืนเล็กๆ มาต่อกัน จึงมีลักษณะเป็นผ้าที่เศร้าหมองคือผู้อื่นมักไม่ต้องการไปตัดเย็บอีก เหมาะสมกับสมณะ ผ้าสี่เหลี่ยมผืนเล็ก ๆ ที่เย็บต่อกันนั้นปรากฏลวดลายเป็นลายคันนา ออกแบบโดยพระอานนท์ ดังปรากฏข้อความในพระวินัยปิฏก ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
"อานนท์เธอเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกับทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่ง คันนากับคันนา ผ่านตัดกันไปหรือไม่? ...เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลาย ให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่” พระอานนท์ตอบว่า "สามารถ พระพุทธเจ้าข้า"

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคิรีชนบทตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จกลับมาพระนครราชคฤห์อีก

ครั้งนั้นท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับภิกษุหลายรูป ครั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูลว่า
"ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงทอดพระเนตรจีวรที่ข้าพระพุทธเจ้าแต่งแล้ว พระพุทธเจ้าข้า"

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่ง
กะภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด อานนท์ได้ซาบซึ้ง ถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำที่เรากล่าวย่อ ได้โดยกว้างขวาง ...จีวรจักเป็นผ้าที่ตัดแล้ว เศร้าหมองด้วยศัสตรา สมควรแก่สมณะ และพวกศัตรูไม่ต้องการ”

หลังจากพระอานนท์ถวายจีวรที่ตัดแต่งแล้วให้ทอดพระเนตร พระพุทธองค์ทรงพอพระทัย และอนุญาตให้ใช้ผ้า ๓ ผืน คือ สังฆาฏิชั้นเดียว จีวร และสบง ต่อมาทรงอนุญาต ไตรจีวร คือ ผ้าสังฆาฏิสองชั้น จีวร และสบง ทั้งนี้เพื่อให้พระสงฆ์ ใช้ป้องกันความหนาวเย็นและรับสั่งว่า ภิกษุไม่พึงมีจีวรมากกว่านี้ (รูปใดมีมากกว่านี้ เป็นอาบัติ)

       อติเรกจีวร คือ จีวรที่มีเกินกว่าผ้าที่อธิษฐานเป็นไตรจีวร ตามพระวินัย   ภิกษุสามารถเก็บไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน สามารถทำเป็น  วิกัปอติเรกจีวรคือ ทำให้เป็นสองเจ้าของ เพื่อจะได้ไม่ต้องอาบัติ เพราะเก็บไว้เกินกำหนด    อ้างอิง: www.phuttha.com

พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญท่านพระอานนท์ว่า เป็นบัณฑิตเฉลียวฉลาดมีปัญญามากสามารถเข้าใจความหมายของคำที่พระองค์กล่าวย่อๆได้โดยพิสดาร  นับจากนั้นมา จึงทรงอนุญาต สังฆาฏิ อุตราสงค์และอันตรวาสก ตัดเป็น๕ขัณฑ์(หรือ๕ตอน)แล้วเย็บเข้าด้วยกัน 

ผ้าที่ใช้ทำจีวร

พระพุทธานุญาตคหบดีจีวร ๖ ชนิด

   [๑๓๙] ก็โดยสมัยนั้นแล จีวรทั้งเนื้อดีและเลวเกิดขึ้นแก่สงฆ์ ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลาย ได้มีความปริวิตกดังนี้ว่า จีวรชนิดไรหนอแล พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต ชนิดไรไม่ทรงอนุญาต แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวร ๖ ชนิด

๐  โขมะ ทำด้วยเปลือกไม้ เช่น ผ้าลินิน
๐  กัปปาสิกกะ ทำด้วยฝ้าย 
๐  โกเสยยะ ทำด้วยไหม เช่น แพร
๐  กัมพละ ทำด้วยขนสัตว์ 
๐  สาณะ ทำด้วยป่าน 
๐  ภังคะ ทำด้วยของเจือกัน เช่น ผ้าที่ทำด้วยด้ายแกมไหม

    สมัยต่อมา ภิกษุทั้งหลายที่ยินดีคหบดีจีวรนั้นพากันรังเกียจ ไม่ยินดีผ้าบังสุกุลด้วยคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตจีวรอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ ๒ อย่าง จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ยินดีคหบดีจีวร(ดูคหบดีจีวร )ยินดีผ้าบังสุกุล(ดูผ้าบังสุกุล)ได้ แต่เราสรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรทั้งสองนั้น.

 :เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๓๖๕๓ - ๓๖๙๘. หน้าที่ ๑๔๙ - ๑๕๑.http://84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=5&A=3653&Z=3698&pagebreak=0

    ผ้านุ่งห่มที่ทำด้วยผ้าเหล่านี้ห้ามมิให้ใช้ คือ คากรอง เปลือกต้นไม้กรอง ผลไม้กรอง ผ้ากำพลทำด้วยผมคน ผ้ากำพลทำด้วยหางขนสัตว์ ปีกนกเค้า หนังเสือ ทำด้วยปอ

สีจีวร
    ไม่ได้มีกล่าวไว้แน่นอน แต่มีการกำหนดห้ามในสีต่างที่กาววาว เช่นสีแดง สีเขียว สีเหลือง สีขาว สีดำ แต่มีคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ทรงอุทานเมื่อครั้งพระสงฆ์มาประชุมกันเป็นจำนวนมากว่า "ภิกษุเหล่านี้ ดูช่างงดงามราวกับผ้ากัมพล(ผ้าสักหลาดหรือผ้าขนสัตว์) ที่มีสีเพียงดังสีใบไม้แห้ง (ปัณฑุปลาโส :ใบไม้แห้ง)"

-สีที่ควรย้อมจีวรนั้นให้ย้อมด้วยของ๖อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งคือ รากหรือเหง้า ต้นไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้
-สีที่ห้ามย้อมจีวรมี๗สีคือ คราม เหลือง แดง บานเย็น แสด ชมพู ดำ

-ห้ามใช้จีวรกาววาว คือ จีวรเป็นรูปลายสัตว์หรือจีวรเป็นลายดอกไม้ ผลไม้ เป็นต้น

:เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๔๔๗๕ - ๔๕๒๓. หน้าที่ ๑๘๓ -๑๘๕.http://84000.org/tipitaka/pitaka1/v.phpB=5&A=4475&Z=4523&pagebreak=0

Visitors: 228,093