ผ้าบังสุกุล

บังสุกุล  แปลว่า ฝั่งแห่งฝุ่น,กองฝุ่น,คลุกฝุ่น,เปื้อนฝุ่น

บังสุกุล ใช้เรียกผ้าที่ภิกษุชักจากศพ หรือผ้าที่ทอดไว้ที่หน้าศพ หรือผ้าที่ทอดบนด้ายสายสิญจน์ หรือผ้าภูษาโยงที่ต่อมาจากศพด้วยการพิจารณากรรมฐานว่า ผ้าบังสุกุล

เรียกกิริยาที่พระชักผ้าหรือพิจารณาผ้าเช่นนั้นว่า ชักผ้าบังสุกุล หรือ พิจารณาผ้าบังสุกุล(ดูเรื่อง มาติกา-บังสุกุล)

ในสมัยพุทธกาลภิกษุต้องแสวงหาผ้าที่เขาทิ้งแล้วจากกองขยะหรือจากป่าช้ามาทำเป็นจีวรใช้ ผ้าเหล่านั้นส่วนใหญ่จะเปื้อนฝุ่นหรือสกปรก จึงเรียกว่า ผ้าบังสุกุล(ดูเรื่อง ผ้าป่า)

อ้างอิง:
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๕๔๘

ผ้าบังสุกุล หมายถึง ผ้าเปื้อนฝุ่น ผ้าคลุกฝุ่น หรือผ้าที่ตกอยู่ตามกองหยากเยื่อ ซึ่งเขาไม่ใช้แล้ว ในสมัยพุทธกาล พระสงฆ์จะแสวงหาเศษผ้าตามป่าช้า ซึ่งเป็นผ้าห่อศพ หรือตามสถานที่ต่างๆ ที่เขาทิ้งไว้ เช่น ญาติโยมคนใดต้องการถวายผ้าแก่ท่าน ก็จะนำไปแขวนไว้ตามป่าหรือทางที่ท่านสัญจรผ่านเพื่อให้ท่านมาพิจารณานำไปใช้ เมื่อท่านเห็นก็จะพิจารณานำไปซัก กะ ตัด เย็บ ย้อมเป็นผ้าจีวรใช้สอย จึงเรียกผ้าชนิดนี้ว่า บังสุกุลจีวร (บัง-สุ-กุน-จี-วอน)

ต่อมาหมอชีวกโกมารภัจจ์ หมอประจำตัวพระพุทธองค์และประจำตัวพระเจ้าพิมพิสาร ทูลขออนุญาตถวายผ้าสิไวยกะคู่หนึ่งแด่พระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงรับ หลังจากนั้นก็ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับผ้าที่ญาติโยมมีศรัทธาถวายได้เช่นเดียวกัน ผ้าที่ว่านี้เรียกว่า คหบดีจีวร (คะ-หะ-บอ-ดี-จี-วอน) หรือคหปติจีวร เขียนแบบภาษาบาลี แปลว่า ผ้าของผู้เป็นเจ้าของเรือน หมายถึง ผ้าที่ผู้ครองเรือนถวาย นั่นเอง.

 

มาติกา(อ่านว่า มาด-ติ-กา) แปลว่า หัวข้อ,แม่บท

มาติกา หมายถึงพระบาลีที่เป็นหัวข้อเป็นแม่บท เรียกว่า บทมาติกา

เรียกการที่พระสงฆ์สวดพระบาลีเฉพาะหัวข้อธรรมในพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งขึ้นต้นด้วยบทว่า กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา ในงานที่เกี่ยวกับศพว่า สวดมาติกา

มาติกา คำนี้ในงานเผาศพจะใช้คู่กับคำว่า บังสุกุล เป็น มาติกา บังสุกุล กล่าวคือพระสงฆ์จะสวดมาติกาก่อนแล้วบังสุกุลต่อกันไป.

อ้างอิง:
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๕๔๘

 

ผ้าป่า คือผ้าที่ผู้ถวายนำไปวางพาดไว้บนกิ่งไม้เพื่อให้พระชักเอาไปเอง โดยไม่กล่าวคำถวายหรือประเคนเหมือนถวายของทั่วไป

ผ้าป่า ที่เรียกดังนี้เพราะถือคติโบราณ คือสมัยพุทธกาลผ้าหายาก ภิกษุต้องแสวงหาผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามป่าช้าบ้าง ตามทางเดินในป่าบ้างมาทำจีวรนุ่งห่ม คนใจบุญสมัยนั้นจึงนำผ้าไปแขวนไว้ตามต้นไม้ข้างทางที่พระเดินผ่าน ทำนองว่าทิ้งแล้ว พระไปพบเข้าจึงหยิบทำเป็นจีวรโดยถือว่าเป็นผ้าไม่มีเจ้าของ ผ้าชนิดนั้นเลยเรียกกันว่า ผ้าป่า

กิริยาที่พระหยิบผ้าไปใช้แบบนั้น เรียกว่า ชักผ้าป่า

ทอดผ้าป่า คือกิริยาที่ถวายผ้าแบบนั้น และนิยมจัดของใช้เป็นบริวารผ้าป่าเหมือนบริวารกฐินด้วย.

อ้างอิง:
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๕๔๘

 

Visitors: 227,852