สังฆาฏิสองชั้น

สังฆาฏิ แปลว่า ผ้าซ้อนนอก, ผ้าทาบ เป็นชื่อเรียกผ้าผืนหนึ่งในจำนวน 3 ผืน หรือไตรจีวรของพระคือ จีวร สบง สังฆาฏิ
สังฆาฏิ คือผ้าที่ซ้อนทับจีวรอีกชั้นหนึ่งทำนองเป็นผ้าคลุมสำหรับป้องกันความหนาวในฤดูหนาว เมื่อห่มทาบจีวรก็จะเป็นผ้าสองชั้น ทำให้อบอุ่นขึ้นเมื่อห่ม จึงเรียกว่า ผ้าสังฆาฏิ (ผ้าซ้อน, ผ้าทาบ)
สังฆาฏิแท้จริงแล้วเป็นผ้าสารพัดประโยชน์ เช่น ห่มแทนจีวร ทำเป็นผ้ากันแดดได้ เป็นต้น
สังฆาฏิ ปัจจุบันพระสงฆ์ไม่ได้ใช้ห่มซ้อนกับจีวรเหมือนก่อน ด้วยอยู่ในถิ่นที่อากาศไม่หนาวจนเกินไป แต่พับแล้วพาดเก็บไว้บนบ่าเพื่อความสะดวกในเวลาเดินทาง จนกลายเป็นผ้าพาดบ่าตามปกติไป 

อ้างอิง:
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548

พระพุทธานุญาตให้วิกัปอดิเรกจีวร
สมัยต่อมา อดิเรกจีวรบังเกิดแก่ภิกษุทั้งหลาย ขณะนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่าพวกเราจะพึงปฏิบัติในอดิเรกจีวรอย่างไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปอดิเรกจีวร.
พระพุทธานุญาตผ้าปะเป็นต้น
[๑๕๒] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครเวสาลีตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางพระนครพาราณสี เสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ ถึงพระนครพาราณสี ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสีนั้นสมัยนั้น ผ้าอันตรวาสกของภิกษุรูปหนึ่งขาดทะลุ และท่านได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตผ้า ๓ ผืน คือ ผ้าสังฆาฏิสองชั้น ผ้าอุตราสงค์ชั้นเดียว ผ้าอันตรวาสกชั้นเดียวก็ผ้าอันตรวาสกของเรานี้ขาดทะลุ ไฉนหนอ เราพึงดามผ้าปะ โดยรอบจักเป็นสองชั้น ตรงกลางจักเป็นชั้นเดียว ดังนี้แล้ว ดามผ้าปะทันที พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินไปตามเสนาสนะ ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้นกำลังดามผ้าปะ ครั้นแล้วเสด็จเข้าไปใกล้ภิกษุนั้น ได้ตรัสถามว่า เธอกำลังทำอะไร ภิกษุ?
ภิ. กำลังปะผ้า พระพุทธเจ้าข้า
ภ. ดีละ ดีละ ภิกษุ เป็นการชอบแท้ ภิกษุ ที่เธอดามผ้าปะ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าสังฆาฏิ ๒ ชั้น ผ้าอุตราสงค์ชั้นเดียว ผ้าอันตรวาสกชั้นเดียว สำหรับผ้าใหม่มีกับปะใหม่ ผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น ผ้าอุตราสงค์๒ ชั้น อันตรวาสก ๒ ชั้น สำหรับผ้าที่เก็บไว้ล่วงฤดู พึงทำอุตสาหะในผ้าบังสุกุลจนพอต้องการหรือทำอุตสาหะในผ้าที่ตกจากร้านตลาด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าปะ การชุน รังดุม ลูกดุม การทำให้มั่น. 

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๓๙๘๓ - ๔๐๐๔. หน้าที่ ๑๖๓ - ๑๖๔.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=3983&Z=4004&pagebreak=0

 

Visitors: 239,420