พระพุทธานุญาตไตรจีวร

เสด็จพระพุทธดำเนินทางไกล
[๑๕๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระนครราชคฤห์ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางพระนครเวสาลี พระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินทางไกลระหว่างพระนครราชคฤห์ และระหว่างพระนครเวสาลีต่อกัน ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุหลายรูป หอบผ้าพะรุงพะรัง บ้างก็ทูนห่อผ้าที่พับดังฟูกขึ้นบนศีรษะ บ้างก็แบกขึ้นบ่า บ้างก็กระเดียดไว้ที่สะเอวเดินมาอยู่ ครั้นแล้ว ได้ทรงดำริว่า โมฆบุรุษเหล่านี้ เวียนมาเพื่อความมักมากในจีวรเร็วนัก เราจะพึงกั้นเขต ตั้งกฎในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินผ่าน ระยะทางโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลี ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โคตมกเจดีย์เขตพระนครเวสาลีนั้น. ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงผ้าจีวรผืนเดียว ประทับนั่งอยู่กลางแจ้งตอนกลางคืน ขณะน้ำค้างตก ในราตรีเหมันตฤดู กำลังหนาว ตั้งอยู่ระหว่างเดือน ๓ กับเดือน ๔ ต่อกัน ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาค เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวจึงได้มีแก่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคจึงทรงห่มจีวรผืนที่สอง ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาคเมื่อมัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวจึงได้มีแก่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคจึงทรงห่มจีวรผืนที่สาม ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาค เมื่อปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ขณะรุ่งอรุณแห่งราตรีอันเป็นเบื้องต้นแห่งความสดชื่น ความหนาวได้มีแก่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคจึงทรงห่มจีวรผืนที่สี่ ความหนาวไม่ได้มีแก่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ ที่เป็นคนขี้หนาว กลัวต่อความหนาว อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยผ้าสามผืน ไฉนหนอเราจะพึงกั้นเขต ตั้งกฏ ในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย เราพึงอนุญาตผ้าสามผืน.

พระพุทธานุญาตไตรจีวร
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเดินทางไกลในระหว่างพระนครราชคฤห์ และระหว่างพระนครเวสาลีต่อกัน ได้เห็นภิกษุหลายรูปในธรรมวินัยนี้ หอบผ้าพะรุงพะรัง บ้างก็ทูนห่อผ้าที่พับดังฟูกขึ้นบนศีรษะ บ้างก็แบกขึ้นบ่า บ้างก็กระเดียดไว้ที่สะเอว เดินมาอยู่ ครั้นแล้วเราได้ดำริว่า โมฆบุรุษเหล่านี้ เวียนมาเพื่อความมักมากในจีวรเร็วนัก ไฉนหนอเราจะพึงกั้นเขตตั้งกฏ ในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราครองผ้าผืนเดียว นั่งอยู่กลางแจ้ง ณ ตำบลนี้ตอนกลางคืน ขณะน้ำค้างตก ในราตรีเหมันตฤดู กำลังหนาว ตั้งอยู่ระหว่างเดือน ๓ กับระหว่างเดือน ๔ ต่อกัน ความหนาวมิได้มีแก่เรา เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวจึงได้มีแก่เรา เราจึงห่มจีวรผืนที่สอง ความหนาวมิได้มีแก่เรา เมื่อมัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ความหนาวได้มีแก่เรา เราจึงห่มจีวรผืนที่สาม ความหนาวมิได้มีแก่เรา เมื่อปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว ขณะรุ่งอรุณแห่งราตรีอันเป็นเบื้องต้นแห่งความสดชื่น ความหนาวจึงได้มีแก่เรา เราจึงห่มจีวรผืนที่สี่ ความหนาวมิได้มีแก่เรา
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรานั้นได้ดำริว่า กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ ที่เป็นคนขี้หนาว กลัวต่อความหนาว ก็อาจดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยผ้าสามผืน ไฉนหนอ เราจะพึงกั้นเขต ตั้งกฏ ในเรื่องผ้าแก่ภิกษุทั้งหลาย เราจะพึงอนุญาตไตรจีวร
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไตรจีวร คือ ผ้าสังฆาฏิ ๒ ชั้น ผ้าอุตราสงค์ชั้นเดียว ผ้าอันตรวาสกชั้นเดียว.

พระพุทธบัญญัติอดิเรกจีวร
[๑๕๑] ก็โดยสมัยนั้นแล พระฉัพพัคคีย์ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตไตรจีวร จึงใช้จีวรสำรับหนึ่งสำหรับเข้าบ้าน สำรับหนึ่งสำหรับอยู่ในอาราม สำรับหนึ่งสำหรับลงสรงน้ำ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย .... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระฉัพพัคคีย์จึงได้ทรงอดิเรกจีวรเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
             ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทรงอดิเรกจีวร รูปใดทรง พึงปรับอาบัติตามธรรม
             สมัยต่อมา อดิเรกจีวรบังเกิดขึ้นแก่ท่านพระอานนท์ และท่านประสงค์จะถวายจีวรนั้นแด่ท่านพระสารีบุตร แต่ท่านพระสารีบุตรอยู่ถึงเมืองสาเกต จึงท่านพระอานนท์ได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุไม่พึงทรงอดิเรกจีวร ก็อดิเรกจีวรนี้บังเกิดแก่เราและเราก็ใคร่จะถวายจีวรผืนนี้แก่ท่านพระสารีบุตร แต่ท่านอยู่ถึงเมืองสาเกต เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค
             พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า อานนท์ ยังอีกนานเท่าไร สารีบุตรจึงจะกลับมา?
             ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ยังอีก ๙ วัน หรือ ๑๐ วัน พระพุทธเจ้าข้า.
             ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ทรงอดิเรกจีวรไว้ได้ ๑๐ วันเป็นอย่างยิ่ง.

พระพุทธานุญาตให้วิกัปอดิเรกจีวร
สมัยต่อมา อดิเรกจีวรบังเกิดแก่ภิกษุทั้งหลาย ขณะนั้น ภิกษุทั้งหลายได้มีความปริวิตกว่า พวกเราจะพึงปฏิบัติในอดิเรกจีวรอย่างไรหนอ แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้วิกัปอดิเรกจีวร.

พระพุทธานุญาตผ้าปะเป็นต้น

 [๑๕๒] ครั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครเวสาลีตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางพระนครพาราณสี เสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ ถึงพระนครพาราณสี ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสีนั้น สมัยนั้น ผ้าอันตรวาสกของภิกษุรูปหนึ่งขาดทะลุ และท่านได้มีความปริวิตกว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตผ้า ๓ ผืน คือ ผ้าสังฆาฏิสองชั้น ผ้าอุตราสงค์ชั้นเดียว ผ้าอันตรวาสกชั้นเดียว ก็ผ้าอันตรวาสกของเรานี้ขาดทะลุ ไฉนหนอ เราพึงดามผ้าปะ โดยรอบจักเป็นสองชั้น ตรงกลางจักเป็นชั้นเดียว ดังนี้แล้ว ดามผ้าปะทันที พระผู้มีพระภาคเสด็จพระพุทธดำเนินไปตามเสนาสนะ ได้ทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้นกำลังดามผ้าปะ ครั้นแล้วเสด็จเข้าไปใกล้ภิกษุนั้น ได้ตรัสถามว่า เธอกำลังทำอะไร ภิกษุ?
             ภิ. กำลังปะผ้า พระพุทธเจ้าข้า
             ภ. ดีละ ดีละ ภิกษุ เป็นการชอบแท้ ภิกษุ ที่เธอดามผ้าปะ
             ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าสังฆาฏิ ๒ ชั้น ผ้าอุตราสงค์ชั้นเดียว ผ้าอันตรวาสกชั้นเดียว สำหรับผ้าใหม่มีกับปะใหม่ ผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น ผ้าอุตราสงค์ ๒ ชั้น อันตรวาสก ๒ ชั้น สำหรับผ้าที่เก็บไว้ล่วงฤดู พึงทำอุตสาหะในผ้าบังสุกุลจนพอต้องการหรือทำอุตสาหะในผ้าที่ตกจากร้านตลาด
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าปะ การชุน รังดุม ลูกดุม การทำให้มั่น.

ที่มา: เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ บรรทัดที่ ๓๘๙๙-๔๐๐๔ หน้าที่ ๑๕๙-๑๖๔. http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=5&A=3899&Z=4004&pagebreak=0
Visitors: 227,957