ขาบาตร

ขาบาตร เป็นบริขารจําเป็นที่พระเณรต้องใช้คู่กับบาตร เป็นที่รองบาตร พระวินัยไม่ได้กำหนดรูปแบบบังคับว่า ขาบาตรจะต้องเป็นอย่างนั้นจะต้องเป็นอย่างนี้เหมือน บาตร หรือ จีวร เพราะฉะนั้น ขาบาตรจึงค่อนข้างมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นกับว่า ใครจะมีความสามารถในการทำอย่างไร แต่สําหรับในวงพระกรรมฐานนั้น ก็มีรูปแบบอันเป็นปฏิปทาที่ครูบาอาจารย์ถ่ายทอดสืบต่อกันมาเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ

โดยมากนิยมใช้ไม้ไผ่ตง ที่เนื้อแห้งสนิทแต่ในยุคหลังๆมีการพัฒนาวัสดุที่ใช้ บางทีก็ใช้ก้านลานซึ่งเหนียวกว่า บางทีก็ใช้ไม้เนื้อแข็งจำพวกไม้พยุง ไม้มะค่า แก่นมะขาม เนื่องจากเป็นไม้ที่มีลวดลายสวยงามตามธรรมชาติ มีความแข็งแรงทนทานแต่ก็หาได้ยาก ทำได้ยากและมีน้ำหนักมากกว่า ขาบาตรจะสวยงามหรือไม่ก็อยู่ที่การคัดไม้และเหลาไม้ ความสูงของขาบาตรโดยมาตรฐานจะสูงประมาณ ๕ ๑/๒นิ้ว และเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๘ ๑/๒นิ้ว-๙นิ้ว

ขาบาตรที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมด้วยความงามอันวิจิตรประณีต ทั้งดูภูมิฐานและดูมีสง่าเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสุขุมคัมภีรภาพ และความเพียรอันยิ่งยวดของผู้ทำเลยทีเดียว อีกทั้งเป็นการสร้างสมบุญบารมีในอีกแขนงหนึ่งด้วย แม้ผู้มีโอกาสได้ใช้ขาบาตรที่มีความงามพร้อมเช่นนี้ หากเป็นการที่ได้มาเองโดยธรรม ย่อมแสดงถึงบุญบารมีที่สั่งสมมาแล้วเช่นกัน แต่ต้องมิใช่การดิ้นรนแสวงหามาด้วย อํานาจของกิเลสตัณหา ดังนั้น ปฏิปทาที่พ่อ แม่ ครูอาจารย์พาดำเนินมาเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น ก็มุ่งหวังมิให้บริขารกลายมาเป็นโทษแก่พระเณรนั่นเอง ท่านสอนให้พระเณร รู้จักทำบริขารให้"เป็น" คือรู้จักประมาณในการทํา และ ใช้บริขารให้ "เป็น" คือไม่ให้ยึดติดจนกลายมาเป็นภัยกับตัวเอง 

ที่มา:จากส่วนหนึ่งของบทความ"บริขารของพระป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต"
http://www.doisaengdham.org

 

 

Visitors: 227,960