ความรู้เรื่อง"กฐิน"

ความรู้เรื่อง "กฐิน"
ความหมายของคำ
๑. คำว่า"กฐิน"มีความหมายเกี่ยวข้องกัน๔ประการ คือ
เป็นชื่อของกรอบไม้ อันเป็นแม่แบบสำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่า สะดึง ก็ได้
เป็นชื่อของผ้า ที่ถวายแก่สงฆ์เพื่อทำจีวร ตามแบบหรือกรอบไม้นั้น
เป็นชื่อของบุญกิริยา ในการถวายผ้ากฐินเพื่อให้สงฆ์ทำจีวร
เป็นชื่อของสังฆกรรม คือกิจกรรมของสงฆ์ที่จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

กฐินที่เป็นชื่อของกรอบไม้ กรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่าสะดึงก็ได้นั้น เนื่องจากในครั้งพุทธกาล การทำจีวรให้มีรูปลักษณ์ตามที่กำหนดกระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้าห่มหรือผ้าห่มซ้อน ที่เรียกว่า จีวร เป็นชื่อรวมของผ้าผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ในภาษาไทยนิยมเรียกผ้านุ่งว่า สบง เรียกผ้าห่มว่า จีวร เรียกผ้าห่มซ้อนว่า สังฆาฏิ การทำผ้าโดยอาศัยแม่แบบเช่นนี้คือทาบผ้าลงไปกับแม่แบบ แล้วตัดเย็บย้อมทำให้เสร็จในวันนั้นด้วยความสามัคคีของสงฆ์ เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันทำกิจที่เกิดขึ้นและเมื่อทำเสร็จหรือพ้นกำหนดกาลแล้ว แม่แบบหรือกฐินนั้น ก็รื้อเก็บไว้ใช้ในการทำผ้าเช่นนั้นอีกในปีต่อๆไปการรื้อแบบ ไม้นี้เรียกว่า เดาะ คำว่า กฐินเดาะหรือเดาะกฐิน จึงหมายถึงการรื้อไม้แม่แบบเพื่อเก็บไว้ใช้ในการโอกาสหน้า

กฐินที่เป็นชื่อของผ้า หมายถึงผ้าที่ถวายให้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล ๑ เดือน นับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่หรือผ้าเทียมใหม่ เช่นผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าบังสุกุล(คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว)และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าตกตามร้านก็ได้ ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เป็นพระภิกษุหรือสามเณรก็ได้ ถวายแก่พระสงฆ์แล้วก็เป็นอันใช้ได้

กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา คือการถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ ๓ เดือน เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบ ให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่ขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐินหรือที่เรียกว่า ทอดกฐิน คือการทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำถวายในท่ามกลางสงฆ์ เรียกได้ว่าเป็น กาลทาน คือการถวายทาน ที่ทำได้เฉพาะกาล ๑ เดือน ดังกล่าวในกฐินที่เป็นชื่อของผ้า ถ้าถวายก่อนหน้า นั้นไม่เป็นกฐิน ท่านจึงถือว่าโอกาสทำได้ยาก

กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม คือกิจกรรมของสงฆ์ก็จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลายก็จะได้เป็นโอกาสให้ได้ช่วยกันทำจีวรของภิกษุรูปอื่นขยายเวลาทำจีวรได้อีก ๔ เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาล การหาผ้าทำจีวรทำได้โดยยาก ไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน ๑๐ วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้ว อนุญาตให้แสวงหาผ้าและเก็บผ้าไว้ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาวคือจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔

   ข้อความดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นว่าความหมายของคำว่ากฐิน มีความหมายเกี่ยวข้องกัน๔ประการ เมื่อสงฆ์ทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้ว และประชุมกันอนุโมทนากฐิน คือแสดงความพอใจว่าได้กรานกฐินเสร็จแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี

๒. คำว่า"กรานกฐิน"คือการลาดหรือทาบผ้าลงไปกับกรอบไม้แม่แบบเพื่อ ตัดเย็บย้อมทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง

๓. คำว่า"การจองกฐิน"คือการแสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยวาจาต่อทางวัดว่าจะนำกฐินมาถวาย เมื่อนั้น เมื่อนี้ แล้วแต่จะตกลงกัน แต่ จะต้องภายในเขตเวลา ๑ เดือน ตามที่กำหนดในพระวินัย

๔. คำว่า"อปโลกน์กฐิน"หมายถึงการที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ถามความเห็นชอบว่าควรมีการกรานกฐินหรือไม่ เมื่อเห็นชอบร่วมกันแล้วจึงหารือกันต่อไปว่าผ้าที่ทำสำเร็จแล้วควรถวายแก่ภิกษุรูปใด การปรึกษาหารือ การเสนอความเห็นเช่นนี้เรียกว่า อปโลกน์ (อ่าว่า อะ-ปะโหลก)หมายถึงการช่วยกันมองดูว่าจะสมควรอย่างไรเพียงเท่านี้ยังใช้ไม่ได้ เมื่ออปโลกน์เสร็จแล้วจึงต้องสวดประกาศเป็นการสงฆ์ จึงนับเป็นสังฆกรรมเรื่องกฐินดังกล่าวไว้แล้วในตอนต้น

   ในปัจจุบันมีผู้ถวายผ้ากฐินมากขึ้น มีผู้สามารถตัดเย็บย้อมผ้าที่ทำเป็นจีวรได้แพร่หลายขึ้น การใช้แม่แบบอย่างเก่าจึงเลิกไป เพียงแต่รักษาชื่อและประเพณีไว้ โดยไม่ต้องใช้กรอบไม้แม่แบบ เพียงถวายผ้าขาวให้ตัดเย็บย้อมให้เสร็จในวันนั้น หรืออีกอย่างหนึ่งนำผ้าสำเร็จรูปมาถวาย ก็เรียกว่า ถวายผ้ากฐินเหมือนกันและเนื่องจากยังมีประเพณีนิยมถวายผ้ากฐินกันแพร่หลายไปทั่วประเทศไทยจึงนับว่าประเพณีนิยมในการบำเพ็ญกุศลเรื่องกฐินนี้ยังเป็นสาธารณะประโยชน์ร่วมไปกับการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามไปในขณะเดียวกัน 

อานิสงส์หรือผลดีของการทอดกฐิน
๑. ผลดีฝ่ายผู้ทอดและคณะ อานิสงส์หรือผลดีของฝ่ายผู้ทอดและคณะ มีดังนี้
(๑) ชื่อว่าได้ถวายทานภายในกาลเวลากำหนดที่เรียกว่ากาลทาน คือ ในปีหนึ่งถวายได้เพียงระยะเวลา ๑ เดือน เท่านั้น ในข้อถวายทานตามกาลนี้มีพระพุทธภาษิตว่า ผู้ให้ทานตามกาลความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลของผู้นั้นย่อมสำเร็จได้
(๒) ชื่อว่าได้สงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผลัดเปลี่ยนผ้านุ่งห่มใหม่ แม้ผ้ากฐินนั้นจะตกแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ชื่อว่าได้ถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม มีพระพุทธภาษิตว่าผู้ให้ผ้าชื่อว่าให้ผิวพรรณ
(๓) ชื่อว่าได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบให้เป็นหลักเป็นตัวอย่างแห่งคุณงามความดีของประชาชนสืบไป
(๔) จิตใจของผู้ทอดกฐินทั้ง ๓ กาล คือ ก่อนทอด กำลังทอด และทอดแล้วที่เลื่อมใสศรัทธาและปรารถนาดีนั้นจัดเป็นกุศลจิต คนที่มีจิตเป็นกุศลย่อมได้รับความสุขความเจริญ
(๕) การทอดกฐิน ทำให้เกิดสามัคคีธรรม คือ การร่วมมือกันทำคุณงามความดี และถ้าการถวายกฐินนั้นมีส่วนได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามด้วย ก็เป็นการร่วมสามัคคี เพื่อรักษาศาสนวัตถุศาสนสถานให้ยั่งยืนสถาพรสืบไป

๒. ผลดีฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับและกรานกฐิน อานิสงส์หรือผลดีของฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับและกรานกฐินมีดังนี้
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ (ในวินัยปิฎกเล่ม ๕ หน้า ๑๓๖) ว่าภิกษุผู้กรานกฐินแล้วย่อมได้รับประโยชน์๕ ประการ
(๑) รับนิมนต์ฉันไว้แล้วไปไหนไม่ต้องบอกลาภิกษุในวัดตามความในสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรค ปาจิตตีย์
(๒) ไปไหนไม่ต้องนำไตรจีวรไปครบสำรับ
(๓) เก็บผ้าที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษ ได้ตามปรารถนา
(๔) จีวรอันเกิดในที่นั้นเป็นสิทธิของภิกษุเหล่านั้น
(๕) ขยายเขตแห่งการทำจีวรหรือการเก็บจีวรไว้ได้จนถึงสิ้นฤดูหนาว (คือจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ เป็นวันสุดท้าย)

อ้างอิง:หนังสือพระอารามหลวงเล่ม๑,กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม พุทธศักราช ๒๕๕๑

Visitors: 241,471