ปริมณฑล
ปริมณฑล ในคำวัดหมายถึงความเรียบร้อย ความสวยงาม ความเป็นระเบียบ
ปริมณฑล ใช้เรียกการนุ่งห่มของภิกษุสามเณรว่า นุ่งห่มเป็นปริมณฑล คือนุ่งห่มเรียบร้อยสวยงาม เป็นระเบียบ ถูกธรรมเนียมนิยม
นุ่งเป็นปริมณฑล คือด้านบนนุ่งปิดสะดือแต่ไม่ถึงกระโจมอก ด้านล่างปิดหัวเข่าทั้งสองลงมาเพียงครึ่งแข้ง ไม่ถึงกรอมข้อเท้า (ดูเรื่อง สบง)
ห่มเป็นปริมณฑล คือในวัดห่มเฉวียงบ่าคือ ปิดบ่าและแขนซ้าย เปิดบ่าและแขนขวา ปกเข่าลงมาขนาดเท่าผ้านุ่ง(สบง) เมื่อเข้าบ้านห่มคลุมปิดบ่าและแขนทั้งสองข้าง ปิดหลุมคอ ข้างล่างปิดหัวเข่าทั้งสองข้างเหมือนในวัด (ดูเรื่อง ห่มดอง ห่มคลุม)
ห่มดอง คือการห่มผ้าของพระสงฆ์แบบหนึ่งโดยห่มเฉวียงบ่าคือเปิดบ่าขวา ปิดบ่าซ้าย พาดสังฆาฏิ แล้วคาดอกด้วยผ้ารัดอก การห่มดองรวมหมายถึงการครองผ้าลดไหล่ของภิกษุแบบธรรมยุต มีสังฆาฏิพาด คือการครองผ้าจีวรอันเป็นปริมณฑล การห่มดองถือว่าเป็นการนุ่งห่มเต็มยศของพระสงฆ์ เพราะใช้ไตรจีวรครบทั้งสามผืน โดยปกติจะห่มเฉพาะภายในวัดในเวลาทำกิจสำคัญ เช่นทำสังฆกรรม ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น หรือในเวลาประกอบพิธีทำบุญทั่วไปภายในวัด
ห่มคลุม คือการห่มผ้าของพระสงฆ์แบบห่มปิดบ่าทั้งสองข้าง ไม่พาดสังฆาฏิและไม่คาดอก ใช้ห่มในเวลาออกจากวัดเข้าไปในหมู่บ้าน หรือในเวลาเดินทาง
สำหรับพระธุดงค์ซึ่งเดินทางด้วยเท้า นิยมห่มดองเป็นพื้นเพราะต้องนำผ้าไตรจีวรติดตัวไปตลอดเวลา เพื่อความสะดวกจึงนุ่งห่มไปเสียเลย
อ้างอิง:
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๕๔๘